สกุลเงินต่าง ๆ บนมหาทวีป

อาณาจักรต่าง ๆ บนมหาทวีปมีการติดต่อค้าขายข้ามพรมแดนกันมาอย่างยาวนาน โดยใช้เงินเงินตราสกุลต่าง ๆ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่เดิมผู้คนจะพกเหรียญเงินใส่ถุงเล็ก ๆ หรือกระเป๋าสัมภาระติดตัว ต่อมาเมื่อเหล่าคนแคระและโนมสร้างระบบธนาคารขึ้นมา ผู้คนก็เริ่มใช้ตั๋วแลกเงินและเช็คแทนการพกเหรียญเป็นถุง ๆ แต่ถ้าต้องเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่มีธนาคาร พวกเขาก็จะนำเงินไปซื้อเพชรหรืออัญมณีอื่น ๆ ที่มีมูลค่าสูงมาพกติดตัวไว้ เนื่องจากมีน้ำหนักเบากว่าและสามารถซุกซ่อนไว้กับตัวได้โดยไม่เป็นที่สะดุดตา

สกุลเงินบนมหาทวีปนั้นมีมากกว่า 10 สกุล แต่สกุลเงินหลักที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายจะมีอยู่ 6 สกุล ได้แก่ ฟลอเร็น, คราวน์, โอเร็น, ดูคาท, ลินทาร์ และไบแซนต์ โดยค่าเงินในนิยายของ Sapkowski กับค่าเงินในเกมของ CDPR จะมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่ากัน แต่โดยรวมแล้วสกุลเงินที่มีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรกของมหาทวีปได้แก่ เงินไบแซนต์ของอาณาโคเวียร์และโพวิส เงินฟลอเร็นของจักรวรรดินิลฟ์การ์ด และเงินสกุลคราวน์

สำหรับเงินสกุลหลัก ๆ ในแต่ละภูมิภาคและอัตราแลกเปลี่ยนมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

จักรวรรดินิลฟ์การ์ด

ชาวนิลฟ์การ์ดใช้สกุลเงิน “ฟลอเร็น” (Floren / Florin) ทั้งในและนอกจักรวรรดิ เนื่องจากเป็นสกุลเงินที่มีค่ามากจนใคร ๆ ก็ไม่อยากปฏิเสธ ในนิยายเล่ม Baptism of Fire ระบุไว้ว่าเงิน 40 ฟลอเร็นมีค่าราว ๆ 500 โอเร็น แสดงว่าอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้นคือ 1 ฟลอเร็น = 12.5 โอเร็น นอกจากนี้ยังมีหน่วยเงินตราที่ใหญ่กว่าฟลอเร็น เรียกว่า “มาร์ก” (Nilfgaardian Mark) โดย 1 มาร์ก = 60 ฟลอเร็น

ส่วนในเกม The Witcher 3 กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 1 ฟลอเร็น = 3 คราวน์ (1 คราวน์ = 1 โอเร็น) ดังนั้นมูลค่าเงินฟลอเร็นในเกมจึงถูกกว่าในนิยายมาก ๆ ส่วนลักษณะของเหรียญฟลอเร็นในจักรวาลเกมของ CDPR จะเป็นเหรียญกลมแบนสีเหลืองทอง ด้านหนึ่งมีรูปมหาสุริยัน 16 แฉก ส่วนอีกด้านเป็นใบหน้าของจักรพรรดิเอเมียร์

 

เทเมเรีย

“โอเร็น” (Oren) คือสกุลเงินหลักที่ใช้ในอาณาจักรเทเมเรียและเมืองอาณานิคม ในนิยายเล่ม The Last Wish ระบุว่าค่าเงินโอเร็นกำลังอ่อนตัวลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินคราวน์ของโนวิกราด โดยอัตราแลกเปลี่ยนในตอนนั้นคือ 6.5 โอเร็น = 1 คราวน์ ส่วนในเกม The Witcher 3 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 โอเร็น = 1 คราวน์ โดยเหรียญเงินโอเร็นจะเป็นเหรียญกลมแบนสีเหลืองทอง ด้านหนึ่งเป็นตราดอกลิลลี่สามดอกบนโล่ ส่วนอีกด้านเป็นใบหน้าของราชาโฟลเทสท์

นอกจากนี้ในเมืองท่าอย่างกอร์ส เวเลน ยังใช้สกุลเงิน “โกรท” (Groat) ซึ่งมีหน่วย “โนเบิล” (Noble) เป็นหน่วยนับราคาที่ใหญ่กว่า โดย 100 โกรท = 1 โนเบิล เงินโกรทเป็นเหรียญทองแดงที่มีหลายราคา เช่น เหรียญหนึ่งโกรท เหรียญห้าโกรท แต่เนื่องจากเงินโกรทมีค่าน้อยที่สุดในบรรดาเหรียญเงินทั้งหลาย จึงไม่มีเหรียญที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 โกรท หากต้องการใช้เงินครึ่งโกรทจะใช้วิธีหักเหรียญเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน จึงเป็นที่มาของสำนวน “มีค่าไม่ถึงครึ่งโกรท” ที่ใช้เปรียบเทียบว่าสิ่งนั้น ๆ ไม่มีค่าเลย

เหรียญเงินสกุลต่าง ๆ จากบอร์ดเกม The Witcher: Old World (ภาพจาก gamefound.com)

 

เรเดเนีย และโนวิกราด

“คราวน์” (Crown) เป็นสกุลเงินหลักที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในอาณาจักรเรเดเนีย นครรัฐโนวิกราด รวมไปถึงอาณาจักรเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงอย่างบรูกก์ ซิดาริส และเคอแร็ค เงินคราวน์มีหน่วยย่อยเป็นเหรียญทองแดง (Copper) โดย 1 คราวน์ = 100 เหรียญทองแดง

ในนิยายมีการเรียกเงินสกุลคราวน์ตามชื่อเมืองหรือชื่ออาณาจักรที่ผลิตเหรียญคราวน์ขึ้นมา จึงเป็นไปได้ว่าเหรียญเงินคราวน์จากแต่ละเมืองอาจมีลักษณะแตกต่างต่างกัน เช่น ตราสัญลักษณ์บนเหรียญ และอาจมีมูลค่าไม่เท่ากันด้วย อย่างไรก็ตามเงินคราวน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “คราวน์โนวิกราด” (Novigradian Crown)

 

โคเวียร์และโพวิส

อาณาจักรที่ร่ำรวยที่สุดในแดนเหนือใช้สกุลเงินที่เรียกว่า “ไบแซนต์” (Bizant) ในนิยายไม่ได้ระบุอัตราการแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลอื่นเอาไว้ อย่างไรก็ตามในนิยายเล่ม The Tower of th Swallow ราชาเอสเทอราดได้ประมาณคร่าว ๆ ว่าการจัดเตรียมกองทหารม้าฝีมือดีประมาณ 4,000 นาย ต้องใช้เงินราว ๆ 1 ล้านไบแซนต์ ส่วนในบอร์ดเกม The Witcher Role-Playing Game ระบุไว้ว่า 1 ไบแซนต์มีค่าเท่ากับ 4 คราวน์เรเดเนีย

ส่วนเมืองนาร็อคที่อยู่ทางเหนือสุดนั้นจะใช้เงินสกุล “มาร์ก” (Narok Mark) ซึ่งชื่อพ้องกับเงินมาร์กของนิลฟ์การ์ด แต่เป็นเงินคนละสกุลกัน โดยในเรื่องสั้น A Shard of Ice เกรอลท์ได้รับเงินค่าจ้าง 95 มาร์กจากการกำจัดซูกูล (zeugl) ซึ่งเป็นสัตว์ประหลาดหนอนยักษ์ในท่อระบายน้ำ

 

สมาพันธรัฐเฮงฟอร์ส

อาณาจักรเล็ก ๆ ที่แยกตัวออกมาจากอาณาจักรโคเวียร์ได้รวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐและใช้เงินสกุลใหม่ที่เรียกว่า “ลินทาร์” (Lintar) ในเรื่องสั้น The Bounds of Reason เกรอลท์ได้รับเงินค่าจ้าง 200 ลินทาร์ จากการกำจัดบาซิลิสก์ 1 ตัว ส่วนในบอร์ดเกม The Witcher Role-Playing Game กำหนดค่าเงิน 1 ลินทาร์ไว้ที่ 2 คราวน์เรเดเนีย

 

เอเดิร์น เคดเวน ซินทรา และสเกลลิเกะ

“ดูคาท” (Ducat) เป็นเหรียญทองที่นิยมใช้กันในอาณาจักรทางตอนใต้และทางตะวันออกของแดนเหนือ ในนิยายไม่ได้บอกอัตราแลกเปลี่ยนหรือมูลค่าของเงินสกุลนี้เอาไว้ แต่ในบอร์ดเกม The Witcher Role-Playing Game กำหนดอัตราเปลี่ยนไว้ที่ 3 ดูคาท ต่อ 1 คราวน์เรเดเนีย

ส่วนในซีรีส์ The Witcher อาณาจักรเอเดิร์นใช้เงินสกุลมาร์ก โดยเงิน 10 มาร์ก สามารถซื้อลูกหมูได้ 1 ตัว และเยนเนเฟอร์ถูกขายให้กับทิสซายอาในราคา 4 มาร์ก

 

ตัวอย่างราคาสินค้าในนิยาย

  • ราว ๆ ปี 1245 บ้านหลังเล็ก ๆ ในแถบชานเมืองของอาณาจักรเคอแร็คมีราคาประมาณ 150 คราวน์
  • 1,200 คราวน์ คือค่าเล่าเรียน 1 ปีการศึกษาของโรงเรียนอาเรทูซา
  • ลูกธนูชั้นดี 1 ดอกมีราคาประมาณ 0.5 คราวน์
  • เงิน 300 คราวน์ สามารถชื้อชุดเดรสสวย ๆ ได้อย่างน้อย 3 ชุด
  • เงิน 1.5 โกรทซื้อโดนัทแบบมีไส้ได้ 3 ชิ้น
  • ดาบวิโรเลดาที่เป็นอาวุธขึ้นชื่อของนิลฟ์การ์ดมีราคาเริ่มต้นที่เล่มละ 15 ฟลอเร็น
  • ดาบเงินและดาบเหล็กของเกรอลท์มีราคาประมูลแบบยกเซ็ตเริ่มต้นที่ 1,000 คราวน์ และปิดประมูลที่ 4,000 คราวน์

 

สรุปค่าเงินสกุลต่าง ๆ เทียบกับสกุลเงินโอเร็น

นิยาย

1 ฟลอเร็น = 12.5 โอเร็น
1 คราวน์ = 6.5 โอเร็น

เกม

1 ไบแซนต์ = 4 โอเร็น
1 ฟลอเร็น = 3 โอเร็น
1 ลินทาร์ = 2 โอเร็น
1 คราวน์ = 1 โอเร็น
1 ดูคาท = ⅓ โอเร็น

 

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.