ลัทธิมหาสุริยัน (The Great Sun)
ลัทธิมหาสุริยัน คือศาสนาหลักอย่างเป็นทางการของจักรวรรดินิลฟ์การ์ด ในนิยายต้นฉบับแทบไม่มีการลงรายละเอียดของลัทธินี้เอาไว้เลย นอกจากเรื่องที่นักบวชมีบทบาททางการเมืองอย่างมาก ข้อมูลส่วนใหญ่ของลัทธินี้จึงถูกแต่งเพิ่มเข้ามาภายหลังในคู่มือบอร์ดเกม The Witcher: A Game of Imagination และ The Witcher Role-Playing Game
จุดกำเนิดของลัทธินี้มาจากแนวคิดของพวกเอลฟ์ที่เคารพธรรมชาติในฐานะผู้มอบชีวิต มนุษย์ที่ตั้งรกรากแถบลุ่มแม่น้ำอัลบารับเอาความเชื่อนี้มาและปรับเปลี่ยนเป็นการบูชาดวงอาทิตย์ ชาวนิล์ฟการ์ดเชื่อว่าดวงอาทิตย์คือสิ่งที่มีพลังอำนาจสูงสุด เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มอบแสงสว่างและความอบอุ่นให้สรรพชีวิต และความพิโรธของดวงอาทิตย์ก็สร้างภัยพิบัติอันใหญ่หลวงได้เช่นกัน พวกเขาจึงเรียกดวงอาทิตย์ว่า มหาสุริยัน (Great Sun) หรือ อาร์ด เฟอานน์ (Ard Feainn) ในภาษานิลฟ์การ์ด และใช้รูปดวงอาทิตย์ที่มีรัศมี 8 หรือ 16 แฉก มาเป็นสัญลักษณ์ในการบูชา
ลัทธิมหาสุริยันเป็นเพียงแค่ความเชื่อทางศาสนาอย่างหนึ่งท่ามกลางศาสนาอีกมากมายที่ปรากฏขึ้นทางตอนใต้ของมหาทวีป จนกระทั่งในรัชสมัยของจักรพรรดิตอร์เรส วาร์ เอ็มรีส (ขึ้นครองราชย์ราว ๆ ปี 1135) พระองค์มีแนวคิดเรื่องการผนวกเมืองต่าง ๆ เข้ามาเป็นอาณานิคมภายใต้การปกครองแบบจักรวรรดิ จึงมีการออกพระราชกฤษฎีกา 8 มีนาคม (March 8th Edict) ประกาศให้ลัทธิมหาสุริยันเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิ และนำตรารูปมหาสุริยันมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของจักรวรรดิอีกด้วย ไม่นานชาวนิลฟ์การ์ดจำนวนมากก็หันมานับถือศาสนานี้ ส่วนศาสนาอื่น ๆ ก็ไม่ได้ถูกปราบปรามหรือห้ามนับถือแต่อย่างใด
The Witcher: A Game of Imagination
แต่ก่อนนั้นลัทธิมหาสุริยันเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ศาสนาที่แพร่หลายในจักรวรรดิ และได้รับความนิยมเฉพาะบริเวณศูนย์กลางของภูมิภาคเท่านั้น แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อราว ๆ 100 ปีก่อน ในสมัยที่ต้นตระกูลของจักรพรรดิเฟอร์กัสเริ่มรวบรวมอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นและเริ่มต้นปฏิรูปบ้านเมืองครั้งใหญ่ ผู้ปกครองพยายามหาสัญลักษณ์บางอย่างที่จะเป็นศูนย์รวมจิตใจและมั่นคงถาวรกว่าการปกครองโดยราชวงศ์เพียงอย่างเดียว ด้วยการจัดการอย่างมีทักษะและเงินสนับสนุนที่มอบให้แก่นักบวชคนโปรดของราชวงศ์ ไม่นานลัทธินี้ก็มีผู้นับถือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งจักรวรรดิ และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เหล่านักบวชก็ต้องให้การสนับสนุนนโยบายทางการเมืองขององค์จักรพรรดิอย่างเต็มที่ ดังนั้นในทางปฏิบัตินักบวชก็คือข้าราชการในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง
ราชสำนักได้ประกาศใช้กฎหมายพิเศษขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรียกว่า พระราชกฤษฎีกา 8 มีนาคม ซึ่งรับรองสถานะการเป็นศาสนาประจำอาณาจักรให้กับลัทธิมหาสุริยัน แต่ระหว่างรัชสมัยของผู้ชิงบัลลังก์ (Usurper) ได้มีการยกเลิกนโยบายด้านศาสนาไปจนหมด จนกระทั่งถึงรัชสมัยของจักรพรรดิเอเมียร์ วาร์ เอ็มรีส จึงมีการฟื้นฟูและมอบสิทธิพิเศษให้ศาสนานี้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง
รากฐานของความเชื่อนี้มาจากแนวคิดเรื่องการเคารพธรรมชาติของพวกเอลฟ์ ดวงอาทิตย์คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มอบความอบอุ่นและชีวิต เป็นผู้ปกป้องมวลมนุษย์ แต่ก็มีด้านที่โหดร้ายและมีพลังแห่งการทำลายล้างด้วย
หลังจากมีการออกพระราชกฤษฎีกา 8 มีนาคม ราชวงศ์ก็กลายเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนานี้อย่างเป็นทางการ วันสำคัญทางศาสนาได้แก่ วันวิษุวัติ และวันคล้ายวันพระราชสมภพของจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน (รัชสมัยของเอเมียร์ คือวันที่ 26 กรกฎาคม) พิธีเฉลิมฉลองจะจัดขึ้นในเมืองหลวง โดยองค์จักรพรรดิจะเป็นผู้ประกอบพิธีในฐานะประมุขแห่งศาสนา ในทุกวันสำคัญจะเริ่มต้นงานเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกพร้อมกับเสียงดนตรีตามแบบพิธีการ หลังจากนั้นก็จะมีการละเล่นพื้นบ้านควบคู่ไปกับการเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งวันสำคัญต่าง ๆ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากประเพณีของพวกเอลฟ์ด้วยเช่นกัน
ในวันสักการะ วันเฉลิมฉลอง และวันสำคัญทางศาสนา นักบวชจะแต่งกายด้วยชุดคลุมสีขาวที่ประดับลายปักดิ้นเงินดิ้นทอง ส่วนในวันธรรมดาพวกนักบวชจะแต่งกายคล้ายกับพลเรือนทั่ว ๆ ไป แต่เสื้อผ้าจะเป็นสีดำล้วน การจะเป็นนักบวชนั้นต้องเริ่มต้นเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาโดยเฉพาะ และต้องสอบให้ผ่านเพื่อให้ได้สมณศักดิ์ จากนั้นก็จะถูกส่งไปประจำวิหารต่าง ๆ หรือตามหน่วยงานปกครอง ความก้าวหน้าของนักบวชแต่ละคนขึ้นอยู่กับความสามารถในการเผยแผ่ศาสนาและวิสัยทัศน์ทางการเมืองด้วย ไม่มีการใช้เวทมนตร์ในหมู่นักบวชแห่งมหาสุริยัน เนื่องจากผู้ที่มีความสามารถด้านเวทมนตร์จะต้องถูกควบคุมตัวไปยังสถาบันสอนเวทมนตร์ที่เมืองล็อคกริมทันที
The Witcher Role-Playing Game
นิลฟ์การ์ดและเขตปกครองต่าง ๆ มีการประกาศศาสนาประจำจักรวรรดิเพียงศาสนาเดียวเท่านั้น การนับถือศาสนาอื่นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ศาสนาแห่งมหาสุริยันนั้นยึดโยงองค์จักรพรรดิไว้กับพลังแห่งธรรมชาติและปวงประชาทั้งหลาย ศาสนานี้เป็นศาสนาเก่าแก่ที่ผู้คนในอดีตเชื่อว่าองค์จักรพรรดิเป็นร่างอวตารของดวงอาทิตย์ ในบางหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ ผู้คนยังคงเชื่อว่าจักรพรรดิคือสื่อกลางที่เชื่อมต่อผู้คนกับพลังแห่งธรรมชาติ และจัดพิธีบูชายัญ (ที่ไม่ได้ใช้มนุษย์เป็นเครื่องสังเวย) ถวายแด่ดวงอาทิตย์ในวันอายัน [1] และวันวิษุวัติ [2]
ในวันเหมายัน สมาชิกครอบครัวจะกลับมารวมตัวกันที่บ้านและสวดบทภาวนาประจำฤดูหนาว เพื่อขอให้ดวงอาทิตย์กลับมา และช่วยประทานพรให้ชีวิตราบรื่น รวมทั้งขอให้การเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตสมดังปรารถนา พวกเขาจะนำอาหารซึ่งได้มาจากพืชผลฤดูหนาวไปให้นักบวชอำนวยพรให้ ในบางภูมิภาคจะมีการนำเด็กทารกที่เกิดในช่วงฤดูหนาวไปรับพรจากนักบวชด้วย
ที่อาสนวิหารแห่งมหาสุริยันซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหลวงของจักรวรรดินิลฟ์การ์ด องค์จักรพรรดิอาจเสด็จมาร่วมงานและพระราชทานพรให้กับประชาชน ตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกับเมืองหลวง บรรดาเจ้าหน้าที่เก็บอากรแห่งกรมพระคลังสมบัติจะตระเวนไปตามบ้านเรือนต่าง ๆ เพื่อแจกจ่ายขนมเค้กรสหวานสีส้มรูปดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระพรจากองค์จักรพรรดิและมหาสุริยัน เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะได้พบกับความมั่งคั่งในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง แน่นอนว่ามันเป็นแค่วันเดียวในรอบปีเท่านั้นที่ผู้คนจะมีความสุขเมื่อเจอหน้าเจ้าหน้าที่เก็บอากร และในหลาย ๆ เมือง ศาสนจักรแห่งมหาสุริยันก็เป็นดัง “ความหวานชื่น” ที่ชดเชย “ความขมขื่น” ที่จักรวรรดิมอบให้
มีการส่งผู้สอนศาสนาไปยังแดนเหนือด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อคอยย้ำเตือนถึงเรื่องคุณธรรมในครอบครัว การทำงานรับใช้แผ่นดิน ความจงรักภักดีต่อองค์จักรพรรดิ และภาระหน้าที่ของเหล่าขุนนางในการดูแลบ้านเมืองและประชาชน
หมายเหตุ:
[1] วันอายัน (Solstices) มี 2 วัน คือ ครีษมายัน (Summer Soltice = วันที่ซีกโลกเหนือมีกลางวันยาวนานที่สุด) และ เหมายัน (Winter Soltice = วันที่ซีกโลกเหนือมีกลางวันสั้นที่สุด)
[2] วันวิษุวัติ (Equinoxes) คือวันที่มีเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ในหนึ่งปีจะมีสองวัน คือ วสันตวิษุวัติในเดือนมีนาคม และศารทวิษุวัติในเดือนกันยายน
ไม่มีความคิดเห็น