เกรอลท์แห่งริเวีย (Gralt of Rivia)


เกรอลท์แห่งริเวีย (Gralt of Rivia)



เกรอลท์บนปกหนังสือ The Last Wish ฉบับภาษาสเปน


ที่มาของชื่อและชีวิตในวัยเด็ก

เกรอลท์ คือหนึ่งในสามตัวละครหลักของเรื่อง เขาเป็นวิทเชอร์จากสำนักหมาป่าที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 13 โชคชะตาลิขิตให้เขาพบรักกับเยนเนเฟอร์แห่งเวนเกอร์เบิร์ก (Yennefer of Vengerberg) จอมเวทหญิงผู้ทรงเสน่ห์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเอาแต่ใจและอารมณ์อันเกรี้ยวกราด ทั้งสองคนรัก ๆ เลิก ๆ กันอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเกรอลท์ได้รับเด็กหญิงคนหนึ่งมาเป็นลูกบุญธรรม จากการใช้ Law of Surprise เด็กคนนั้นคือองค์หญิงซีเรลลา หรือ ซีรี (Ciri) รัชทายาทเพียงหนึ่งเดียวของอาณาจักรซินทรา


ไม่มีใครรู้เรื่องราวชีวิตในวัยเด็กของเขามากนัก นอกจากอาจารย์เวสิเมียร์ (Vesemir) วิทเชอร์เฒ่าแห่งสำนักหมาป่าที่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เล็ก ๆ แม่ของเขาเป็นดรูอิดหญิงชื่อ วิเซนนา (Visenna) ส่วนพ่อที่เกรอลท์ไม่เคยได้เห็นหน้าเลยนั้นเป็นนักรบพเนจรนามว่า โคริน (Korin) ในนิยายวิเซนนาทิ้งลูกของตัวเองไว้กับเวสิเมียร์ตั้งแต่ยังแบเบาะ สิ่งเดียวที่เธอมอบให้แก่บุตรชายคือชื่อ "เกรอลท์"


เกรอลท์ใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ในปราสาทแคร์ มอร์เฮน (Kaer Morhen) ในฐานะวิทเชอร์ฝึกหัด เมื่ออายุถึงเกณฑ์เขาก็ถูกทำให้กลายพันธุ์เพื่อให้มีพละกำลัง ความว่องไว และประสาทสัมผัสที่เฉียบคมกว่ามนุษย์ทั่วไป เมื่อเขาฝึกฝนจนพร้อมที่จะออกท่องโลกในฐานะวิทเชอร์ เวสิเมียร์จึงแนะนำให้เขาเลือกใช้ชื่อหรือฉายาที่จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและเป็นที่จดจำได้ง่ายสำหรับผู้จ้างวาน ซึ่งชื่อที่เขาตั้งให้ตัวเองก็คือ...


เกรอลท์ โรเจอร์ เอริค ดู อูต-เบลเลการ์ด (Geralt Roger Eric du Haute-Bellegarde)


เวสิเมียร์จึงตัดสินใจเลือกคำว่า "แห่งริเวีย" มาต่อท้ายชื่อให้ จากการที่เกรอลท์มีสำเนียงการพูดคล้ายกับชาวริเวีย และตัวเขาเองก็พยายามเลียนแบบให้เหมือนขึ้นไปกว่าเดิมจนฟังดูเหมือนว่าเขาเป็นชาวริเวียจริง ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อชดเชยปมในใจที่เขาแทบไม่รู้ที่มาที่ไปของตัวเอง ไม่มีนามสกุลของพ่อแม่ให้ใช้ ไม่มีแม้กระทั่งบ้านเกิดที่จะเอามาต่อท้ายชื่อเหมือนคนอื่นเขา


เขาจึงแนะนำตัวว่า "เกรอลท์แห่งริเวีย" อยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ชาวริเวีย


ต่อมาเกรอลท์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินจากการช่วยให้กองกำลังลีเรียของราชินีมีฟ (Meve) ขับไล่ทัพนิลฟ์การ์ดออกจากแม่น้ำยารูกาไปได้ (แม้เจ้าตัวจะไม้ได้ตั้งใจก็ตาม) ซึ่งยศอัศวินที่องค์ราชินีแต่งตั้งให้ก็ดันซ้ำกับคำต่อท้ายชื่อที่เขาใช้มานานแล้ว


อายุ

ในนิยายนั้นผู้แต่งอย่าง อันด์เชย์ ซัพคอฟสกี (Andrzej Sapkowski) ได้ระบุอายุที่ชัดเจนของตัวละครไว้เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น แม้แต่ตัวละครหลักอย่างเกรอลท์ก็ไม่มีใครทราบว่าจริง ๆ แล้วเขาอายุเท่าไรกันแน่ ซัพคอฟสกีเคยตอบคำถามเรื่องนี้ไว้ว่า


"เขาอายุเกิน 50 ปี (หมายถึงช่วงที่เกิดเหตุการณ์ในเล่ม Babtism of Fire) แต่ก็ไม่เคยบอกใครว่าเกินไปเท่าไรกันแน่ วิทเชอร์นั้นแก่ช้ากว่าคนทั่วไปมากๆ เมื่อเห็นวิทเชอร์อายุ 60 ปี คนทั่วไปก็จะคิดว่าเขาอายุประมาณ 45 ปีเท่านั้น ถึงแม้ผู้คนในโลกของ The Witcher จะมีอายุยืนยาวกว่าคนในยุคกลางของโลกแห่งความเป็นจริง แต่พวกเขาก็ยังมีอคติกับ "การจ้างงานคนที่มีอายุเกิน 50" อยู่ดี ดังนั้นเกรอลท์จึงตัดสินใจปิดบังอายุที่แท้จริงของตัวเอง" [1]


บุคลิกลักษณะ

เกรอลท์มีผิวที่ขาวซีดมาก ๆ และเส้นผมสีขาวเหมือนน้ำนม ซึ่งเป็นผลจากการกลายพันธุ์หลายขั้นตอน ทำให้เซลล์ผิวหนังไม่สามารถสร้างเม็ดสีขึ้นมาใหม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นรูปร่างหน้าตาของเขาก็ดีพอที่จะดึงดูดอิสตรีนางแล้วนางเล่าให้เข้ามาพัวพันในชีวิต ดวงตาของเกรอลท์ในยามปกตินั้นดูไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่เขาสามารถควบคุมรูม่านตาให้หรี่ลงเหมือนตาแมวได้เมื่อเจอแสงสว่างจ้า 


ในยามเดินทางเกรอลท์จะสวมเสื้อหนังแขนสั้นทับเสื้อลำลองตัวยาว (tunic) แล้วสวมผ้าคลุมแบบมีฮู้ดทับอีกที เครื่องประดับชิ้นเดียวที่เกรอลท์สวมติดตัวไว้ตลอดเวลาคือเหรียญตราประจำสำนัก ซึ่งทำมาจากแร่เงินที่ลงอาคมไว้ให้ตรวจจับพลังงานเวทมนตร์ได้ เขามักสะพายดาบเหล็กไว้ที่หลังเหมือนสะพายซองลูกธนู ส่วนดาบเงินนั้นจะพกติดตัวในบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่เขาจะเก็บมันไว้ที่กระเป๋าสัมภาระของม้าคู่ใจอย่างเจ้าโร้ช (Roach) หรือไม่ก็ฝากแดนดีไลออน (Dandelion / Jaskier)เอาไว้ 


ตลอดทั้งเรื่องเกรอลท์มักมีเหตุให้ต้องทะเลาะวิวาทกับเหล่าอันธพาล ชาวเมือง ทหารยาม ไปจนถึงพวกอัศวิน ถ้าคนเหล่านั้นยังพอคุยกันรู้เรื่องก็จะถูกวิทเชอร์สั่งสอนแค่พอเจ็บเนื้อเจ็บตัว ในทางตรงกันข้าม เกรอลท์ก็ไม่ติดขัดหากต้องลงมือฆ่าคนเพื่อยุติปัญหาที่จะตามมา สำหรับเขาแล้วมนุษย์บางคนก็ชั่วช้าไม่ต่างอะไรกับปีศาจ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่เคยรับจ้างฆ่าคนตามใบสั่งเหมือนวิทเชอร์บางสำนัก 


เกรอลท์ไม่นับถือศาสนาใด ๆ เลย แต่เขาก็ไม่คิดลบหลู่ดูหมิ่นความเชื่อของใครหากมันไม่สร้างปัญหาให้กับเขา ส่วนเรื่องการเมืองเกรอลท์ก็ทำตามธรรมเนียมของสำนัก คือจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงใด ๆ อย่างเด็ดขาด นอกจากนี้เขายังมีกฎเหล็กประจำตัวว่าจะไม่สังหารมังกร เนื่องจากมันเป็นสิ่งมีชิวิตที่มีสติปัญญาสูง ทั้งยังถูกล่าอย่างหนักจนใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย  


ฉายาและชื่ออื่น ๆ

เกรอลท์มีฉายาว่า “หมาป่าขาว” (White Wolf) จากการมีผิวซีดและผมที่ขาวโพลนทั้งศีรษะ พวกนางไม้ (dryad) แห่งป่าโบรคิลอนเรียกเขาด้วยภาษาเอลฟ์โบราณว่า กวินเบลดด์ (Gwynbleidd) ซึ่งแปลว่าหมาป่าสีขาวเช่นเดียวกัน 


ฉายาที่เกรอลท์ไม่ชอบให้ใครเรียกก็คือ จอมเชือดแห่งบลาวิเคน (ฺButcher of Blaviken) เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เขาตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิต เกรอลท์ต้องการปกป้องชีวิตของผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของนางโจรและพรรคพวกของเธอ แต่สุดท้ายชาวเมืองบลาวิเคนที่เขาพยายามปกป้อง กลับเห็นเขาเป็นฆาตกรเลือดเย็นที่ฆ่าคนมากมายและฆ่าผู้หญิงกลางตลาดเหมือนเป็นผักปลา 



อ้างอิง



ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.