ปฏิทินเอลฟ์ และเทศกาลในจักรวาล The Witcher
หลังจากเกิดปรากฏการณ์ Conjunction of the Spheres จนเผ่าพันธุ์มนุษย์ทะลุมิติมายังโลกของ The Witcher พวกเขายังคงไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับโลกใบใหม่มากนัก จึงพยายามเรียนรู้วิทยาการหลาย ๆ อย่างจากพวกเอลฟ์ที่ตั้งรกรากอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนี้มาเป็นเวลานาน รวมไปถึงเรื่องง่าย ๆ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันอย่างการใช้ปฏิทิน
การนับวันนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะสังเกตได้ง่าย ๆ จากกลางวัน-กลางคืน ส่วนเดือนก็พอจะใช้ข้างขึ้น-ข้างแรมมาบอกได้ แต่ในหนึ่งปีควรจะมีกี่เดือน และการจะกำหนดว่าวันไหนจะเป็นการเริ่มต้นปีใหม่นั้น แค่ดูจากฤดูกาลอย่างเดียวก็คงไม่แม่นยำมากพอ พวกเอลฟ์แก้ปัญหานี้โดยใช้ความรู้ด้านดาราศาสตร์สังเกตได้ว่าการหมุนของโลกและการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์จะทำให้เกิดกลางวัน-กลางคืนที่สั้น-ยาวไม่เท่ากัน และใช้มันเป็นจุดอ้างอิงในการทำปฏิทิน
ในหนึ่งปี เมื่อถึงฤดูร้อนจะมีวันที่กลางวันยาวนานที่สุด 1 วัน (summer solstice; ครีษมายัน) พอถึงฤดูหนาวก็จะมีวันที่กลางวันสั้นที่สุด 1 วัน (winter solstice; เหมายัน) นอกจากนี้มีวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิ 1 วัน (spring/vernal equinox; วสันตวิษุวัต) และจะเกิดขึ้นอีกครั้งในฤดูใบไม้ร่วง (autumn equinox; ศารทวิษุวัต) พวกเขาจึงนำจุดอ้างอิงทั้ง 4 จุดจากการสังเกตดวงอาทิตย์นี้แบ่งปีออกเป็น 4 ส่วน ต่อด้วยการใช้วันแรมสุดท้ายที่จะมองไม่เห็นดวงจันทร์บนท้องฟ้า (new moon; อมาวสี) มาแบ่งครึ่งอีกครั้ง เกิดเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ 8 วันที่แบ่งหนึ่งปีเป็น 8 ส่วน และเรียกแต่ละส่วนว่า “Savaed”
แต่ละ savaed มีชื่อเรียกตามลำดับดั้งนี้
- วันที่ 1 พ.ย. - 20 ธ.ค. = Saovine (Samhain)
- วันที่ 21 ธ.ค. - 1 ก.พ. = Yule
- วันที่ 2 ก.พ. - 30 มี.ค. = Imbaelk (Imbolc)
- วันที่ 31 มี.ค. - 30 เม.ย. = Birke
- วันที่ 1 พ.ค. - 20 มิ.ย. = Belleteyn (Beltane)
- วันที่ 21 มิ.ย. - 31 ก.ค. = Feainn
- วันที่ 1 ส.ค. - 22 ก.ย. = Lammas (Lughnasadh)
- วันที่ 23 ก.ย. - 31 ต.ค. = Velen
เมื่อมนุษย์เริ่มมีวิทยาการเป็นของตัวเอง พวกเขาก็สร้างปฏิทินแบบ 12 เดือนขึ้นมาและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามอิทธิพลของการใช้ปฏิทินเอลฟ์ยังคงฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์มนุษย์ พวกเขายังจัดเทศกาลต่าง ๆ ตามวันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 8 วัน โดยวัตถุประสงค์ของการเฉลิมฉลองมักจะเกี่ยวพันกับฤดูกาลและช่วงต่าง ๆ ของการเพาะปลูก เริ่มตั้งแต่ต้นปีดังนี้
1. Midwinter (Midinváerne)
เป็นงานฉลองประจำฤดูหนาวจัดขึ้นในค่ำคืนที่ยาวนานที่สุดของปี (winter solstice; เหมายัน) จะมีการตั้งศาลบูชาประจำฤดูหนาวเพื่อให้แสงสว่างและชีวิตได้กลับมากำเนิดใหม่อีกครั้ง ต้นไม้จะถูกประดับประดาด้วยของตกแต่งต่าง ๆ เช่นพวงหรีดที่ทำจากกิ่งไม้และใบสน หรือไม่ก็นำช่อดอกมิสเซิลโทมาแขวนเอาไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่ยังสามารถอดทนอยู่ได้ท่ามกลางฤดูหนาวที่โหดร้าย
2. Imbaelk (Imbolc)
จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดของฤดูหนาว ผู้คนจึงเฉลิมฉลองเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก โดยการก่อกองไฟและจุดเทียนด้วยความเชื่อที่ว่า มันจะช่วยเพิ่มพลังให้กับดวงอาทิตย์ทำให้มีกลางวันที่ยาวนานขึ้นและขับไล่ความหนาวเย็นออกไป เทศกาลนี้จึงมักถูกเรียกว่า “วันผลิใบ” (Sprouting) นอกจากนี้ยังเชื่อว่าช่วงเวลานี้เหมาะแก่การทำพิธีทำนายสภาพอากาศตลอดทั้งปีอีกด้วย
3. Birke
เป็นเทศกาลประจำฤดูใบไม้ผลิซึ่งจะจัดขึ้นในวันวสันตวิษุวัต (spring/vernal equinox) เป็นสัญญาณว่าต่อจากนี้ตอนกลางวันจะเริ่มยาวนานกว่าตอนกลางคืน หมายถึงช่วงเวลาแห่งการเจริญเติบโตและการเริ่มต้นใหม่ คณะแม่ชีแห่งวิหารเมลิเทเลจึงจัดพิธีบวชแม่ชีใหม่ในวันนี้ของทุกปี และเมื่อต้นศตวรรษที่ 12 เมื่อครั้งที่ศาสดาพยากรณ์เลบิโอดายังมีชีวิตอยู่ ท่านก็เคยใช้วันนี้ในการเทศนาเหล่าสาวกที่ใต้ต้นโอ๊คใหญ่ ณ แคว้นพอนทาเรียเช่นกัน
4. Belletyne (Beltane)
เทศกาลรื่นเริงที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จึงมีชื่อเรียกต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น May Day, May Night, May Eve และ Blossoming (วันแรกแย้ม) จัดขึ้นในคืนสุดท้ายของเดือนเมษายนไปจนถึงรุ่งสางของวันที่ 1 พฤษภาคม ด้วยการก่อกองไฟขนาดใหญ่ให้บรรดาหนุ่มสาวได้ดื่มกินและเต้นรำกันอย่างสุดเหวี่ยง และมักจะจบลงด้วยการพากันไปขึ้นสวรรค์ตามสุมทุมพุ่มไม้โดยไม่มีใครถือสา เพื่อเฉลิมฉลองให้กับความอุดมสมบูรณ์และวัฏจักรของธรรมชาติ และยังถือเป็นฤกษ์ดีที่เหมาะแก่การจัดพิธีสมรสอีกด้วย (ทั้งเยนเนเฟอร์และซีรีมีวันครบรอบวันเกิดในวันนี้เหมือนกัน)
5. Midsummer (Midaëte)
เป็นวันที่มีกลางวันยาวนานที่สุดของปีและเป็นวันแรกของเดือน Feainn จะมีการตั้งศาลบูชาพระอาทิตย์ เพื่อขอพรให้แสงสว่างช่วยปกป้องและเกื้อหนุนสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บางแห่งก็จะเชิญแม่มดหมอผีมาเสกไฟและอำนวยพรให้กับพืชผลในไร่นา เชื่อกันว่าดอกเฟินที่เป็นดอกไม้วิเศษจะบานในคืนนี้เพียงคืนเดียวเท่านั้น ใครที่หามันพบก็จะโชคดีไปตลอดทั้งชีวิต ในคืนที่สั้นที่สุดนี้เหล่าหนุ่มสาวจึงพากันเข้าป่าเพื่อไปหาดอกเฟิน (คงจะเดาได้ไม่ยากว่าจริง ๆ แล้วเข้าไปทำอะไรกัน) ส่วนวิทเชอร์จะบริกรรมคาถาเพื่อทำให้ sign ต่าง ๆ มีพลังรุนแรงยิ่งขึ้น
6. Lammas (Lughnasadh)
ในวันแรกของเดือนสิงหาคมจะมีการเฉลิมฉลองในฐานะวันเริ่มต้นแห่งฤดูเก็บเกี่ยว จึงนิยมเรียกกันว่า “เทศกาลแห่งเคียว” (Feste of the Scythe) ในหมู่ผู้ที่นับถือเทพี Dana Méadbh ยังเชื่อว่าพระองค์จะมาปรากฏกายให้เห็นระหว่างเทศกาลนี้ด้วย
7. Velen
เวเลนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเมืองเวเลน แต่เป็นวันแรกของเดือนสุดท้ายตามปฏิทินเอลฟ์ ช่วงเวลานี้ผู้คนจะวุ่นวายอยู่กับการเก็บเกี่ยว จึงมีการนำผลผลิตไปถวายแด่เทพีเมลิเทเลเพื่อแสดงความขอบคุณที่ช่วยดลบันดาลให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ แต่ละครอบครัวจะทำอาหารมื้อค่ำและเสิร์ฟพืชผักผลไม้ที่ปลูกเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอตกกลางคืนจะมีการจุดพลุซึ่งเหมาะแก่การนั่งดื่มด่ำกับบรรยากาศไปพร้อมกับจิบเหล้าหรือไวน์ไปด้วย
8. Saovine (Samhain)
วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของปีใหม่ แต่ในคืนข้ามปีผู้คนจะไม่ออกนอกบ้านอย่างเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าคืนนี้จะเต็มไปด้วยเวทมนตร์ชั่วร้ายและเป็นคืนที่ภูตผีปีศาจจะมีพลังแก่กล้าที่สุด สมาชิกครอบครัวจะมานั่งกินอาหารกันหน้าเตาผิง จะไม่มีการเล่นเครื่องดนตรีใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะเชื่อว่ามันจะนำโชคร้ายมาให้ และยังเชื่อว่าหากสตรีมีครรภ์ออกนอกบ้านไปในคืนนี้ จะทำให้เด็กที่คลอดออกมากลายร่างเป็นปีศาจสตริกา
นอกจากนี้ ในอาณาจักรเรเดเนีและอาณาจักรเทเมเรีย ยังมีการละเล่นอย่างหนึ่งที่สืบต่อกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 โดยจะมีการทำตุ๊กตาจากเศษผ้าแล้วเผามันในกองไฟ ตุ๊กตาผ้าเป็นตัวแทนของฟอลก้า (Falka) สตรีผู้นำกบฏที่ฆ่าล้างครัวกษัตริย์เรเดเนีย จนลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองและยุคแห่งการล่าแม่มด ผู้คนจึงเห็นเธอเป็นปีศาจกระหายเลือด และจำลองเหตุการณ์ที่เธอถูกประหารโดยการเผาทั้งเป็นออกมาเป็นการละเล่นนี้
ตัดกลับมาในโลกแห่งความจริง Andrzej Sapkowski นำไอเดียเรื่องปฏิทินเอลฟ์มากจากปฏิทินโบราณของชาวเคลท์ (Celt) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินยุโรปตั้งแต่ยุคเหล็ก ประมาณ 800 ปีก่อนคริสตกาล ถ้าพูดกันตรง ๆ Sapkowski นั้นเอาปฏิทินชาวเคลท์มาใช้แบบทั้งดุ้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อ ระยะเวลา หรือหลักการของมัน ความหลงใหลในวัฒนธรรมชาวเคลท์ยังทำให้เขาใช้มันเป็นต้นแบบในการสร้างตำนานและอารยธรรมของเผ่าพันธุ์เอลฟ์อีกด้วย
ในโลกแห่งความจริง เทศกาล Midwinter คือวัน Yuletide ของชาวนอร์ดิก ต่อมาใด้แพร่หลายและถูกผนวกรวมเข้ากับวันคริสต์มาสหลังการเฟื่องฟูของศาสนาคริสต์ ส่วนความเชื่อของชาวเคลท์ที่ว่าบรรดาปีศาจจะพากันออกมาในวัน Saovine ก็ถูกดัดแปลงมาเป็นวัน Halloween ให้เด็ก ๆ ได้เล่นแต่งตัวเป็นภูตผีออกตระเวณไปเคาะประตูขอขนมมากินกันอย่างสนุกสนาน
ไม่มีความคิดเห็น