ฟ็อกเล็ท และฟ็อกเล็ทโบราณ (Foglet and Ancient Foglet)
ฟ็อกเลท (Foglet)
"ฟ็อกเล็ท" ศิลปิน Bartłomiej Gaweł (ภาพจาก gwent.one) |
Bestiary (The Witcher Role-Playing Game: A Witcher’s Journal)
ระดับความรู้ของคนทั่วไป
ฟ็อกเล็ท? ฟ็อกเลอร์? ข้าก็เคยได้ยินคนเรียกกันทั้งสองแบบนั่นแหละ แล้วแต่สำเนียงล่ะนะ แต่ข้ายังโชคดีที่ไม่เคยเจอเจ้าตัวพวกนี้หรอก พวกชาวบ้านว่ากันว่ามันชอบออกหาเหยื่อตามหนองน้ำแถว ๆ คุ้งแม่น้ำพอนทาร์ (Pontar) และแม่น้ำยารูก้า (Yaruga) แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ล่ะก็พวกมันจะต้องลงมือแบบเงียบเชียบทีเดียว ข้าเคยได้ยินเรื่องเล่าของคนแก่คนเฒ่ามาจากเมืองเวอร์เดน (Verden) ที่บอกว่าฟ็อกเล็ทมันจะทำให้หมอกลงแล้วก็ไปซ่อนตัวอยู่ในนั้น ถ้าตอนกลางคืนเจ้าเห็นว่าคุ้งแม่น้ำตรงไหนมีหมอกลงหนา จงเตรียมตัวก้มต่ำ ๆ แล้วอยู่นิ่งไว้ ๆ เลย
ฟ็อกเล็ทมันจะทำให้เจ้าเห็นภาพหลอนในหมอก ถ้าเจ้าจำเป็นจะต้องเดินหน้าต่อก็ให้วักน้ำในบึงขึ้นมาล้างตา มันจะช่วยชะล้างเวทมนตร์ออกจากดวงตาของเจ้า แล้วเจ้าจะได้เห็นว่าฟ็อกเล็ทตัวจริงน่ะมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบไหน!
ระดับความรู้ของวิทเชอร์
หมอกนั้นเป็นอันตรายกับนักเดินทาง แต่การหลงทางก็อันตรายพอ ๆ กับการเห็นแสงไฟลอยอยู่ในหมอก ร่างของ
ฟ็อกเล็ทจะเรืองแสงนวล ๆ เพื่อล่อลวงเหล่านักเดินทางไปสู่หายนะ นั่นคือการถูกกรงเล็บแหลมยาวโง้งกระซวกไส้ออกมา
ฟ็อกเล็ทเป็นอันตรายอย่างมากตราบใดที่มันยังซุ่มพรางตัวอยู่ในหมอก มันสามารถหายตัวและสร้างภาพลวงตาเพื่อบิดเบือนสภาพแวดล้อมได้ เมื่อถูกโจมตีมันจะสร้างภาพลวงตาของตัวเองเพื่อทำให้คู่ต่อสู้สับสน การล้างตาด้วยน้ำในบึงนอกจากจะไม่ช่วยอะไรทั้งนั้นแล้วยังสกปรกอีกด้วย
เมื่อฟ็อกเล็ทถูกโจมตี มันจะหลุดจากสภาวะล่องหนจนสามารถมองเห็นร่างที่แท้จริงได้ชั่วขณะหนึ่ง ทำให้ต่อสู้กับมันได้ง่ายขึ้น คาถาเคว็น (Quen) จะช่วยป้องกันการโจมตีของฟ็อกเล็ทที่อาจโผล่มาจากทิศทางไหนก็ได้
ถ้าอยากจะเซอร์ไพรส์พวกมันดูบ้าง การใช้ระเบิดไดเมอริเทียม (Dimeritium) สามารถสกัดกั้นเวทมนตร์ทำให้
ฟ็อกเล็ทไม่สามารถเสกหมอกได้ หากไม่มีพกติดตัวไว้ก็ให้เปลี่ยนไปใช้คาถาเยอร์เด็น (Yrden) หรือระเบิดมูนดัสต์ (Moondust) ซึ่งทำให้ฟ็อกเล็ทหลุดจากสภาวะล่องหนได้เช่นกัน หากมีนักเวทหรือนักบวชร่วมทางมาด้วย พวกเขาสามารถใช้การลบล้างคาถา (dispel) เพื่อทำให้หมอกสลายไป เมื่อฟ็อกเล็ทไม่เหลือกลลวงใด ๆ ให้ใช้ ก็ถึงเวลาจัดการพวกมันด้วยดาบที่ชโลมน้ำมันเนโครเฟจ
ข้อมูลทั่วไป
- ความสูง 2 เมตร
- น้ำหนัก 75 กิโลกรัม
- ถิ่นอาศัย ถ้ำและหนองน้ำ
- ขนาดฝูง ตัวเดียว
ความสามารถในการต่อสู้
- เสกม่านหมอก (summon fog) ฟ็อกเล็ทสามารถเสกให้หมอกลงหนาได้ในรัศมี 30 เมตรรอบ ๆ ตัวมัน เมื่อสิ่งมีชีวิตใด ๆ ก็ตาม (ยกเว้นตัวมันเอง) เข้ามาในเขตหมอกจะเหลือทัศนวิสัยแค่ 4 เมตรเท่านั้น หมอกนี้สามารถอยู่ได้นานถึง 24 ชั่งโมงหรือจนกว่าฟ็อกเล็ทจะเสกให้มันสลายไป นักบวชหรือนักเวทสามารถใช้การลบล้างคาถาเพื่อทำลายหมอกนี้ได้ หากฟ็อกเล็ทตาย หมอกก็จะสลายไปด้วย ระเบิดไดเมอริเทียมสามารถยับยั้งฟ็อกเล็ทไม่ให้ใช้เวทมนตร์เสกหมอกขึ้นมาได้
- ล่องหน (invisibility) ฟ็อกเล็ทจะอยู่ในสภาวะล่องหนภายในรัศมีของหมอกที่มันเสกขึ้นมา ทำให้มันซุ่มโจมตีได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากถูกมองเห็นตัวการโจมตีของมันจะรุนแรงน้อยลงและป้องกันตัวเองได้ไม่ดีนัก หลังจากถูกโจมตีทางกายภาพฟ็อกเล็ทจะหลุดจากสถานะล่องหนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ถ้ามันถูกคาถาเยอร์เด็นหรือระเบิดมูนดัสต์ จะไม่สามารถล่องหนได้อีกจนกว่าฤทธิ์ของคาถาหรือระเบิดจะสลายไปจากบริเวณนั้น และถ้า
ฟ็อกเล็ทหลุดออกจากรัศมีของหมอก มันจะถูกมองเห็นตัวได้ในทันที
- แยกร่างเงาลวง (illusionary copies) เมื่ออยู่ในหมอกฟ็อกเล็ทสามารถใช้กลอุบายสร้างภาพลวงตาของตัวเองขึ้นจนดูเหมือนพวกมันแยกร่างได้ ร่างแยกของพวกมันจะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ขณะที่ร่างจริงก็จ้องหาจังหวะจู่โจม การโจมตีใส่ร่างแยกนั้นไม่สามารถทำอันตรายร่างจริงฟ็อกเล็ทได้ เพียงแค่ทำให้ร่างแยกสลายไปเท่านั้น
- สร้างภาพมายา (creat illusion) เมื่ออยู่ในหมอกฟ็อกเล็ทยังสามารถสร้างภาพลวงตาที่มีรายละเอียดสมจริงของสิ่งใดก็ได้ แต่ภาพลวงตานี้ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่นได้ ภาพลวงตาจะไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีความรู้สึก
ใด ๆ ทั้งสิ้น และคนที่อยู่นอกหมอกสามารถเห็นภาพลวงตาที่ฟ็อกเล็ทสร้างขึ้นได้ด้วย
จุดอ่อน: Necrophage Oil / Moondust Bombs / Dimeritium Bombs / Yrden
Bestiary (The Witcher 3: Wild Hunt)
หากเจ้าต้องติดอยู่ในบึงตอนกลางคืน จงยืนนิ่ง ๆ อยู่ที่เดิมจนกว่าจะถึงรุ่งสาง แม้ต้องแช่อยู่ในน้ำสูงถึงเอวและมีฝูงปลิงคืบคลานเข้าไปในกางเกงของเจ้าก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด หากเจ้าเห็นแสงไฟลอยอยู่ในหมอกล่ะก็ อย่าได้มุ่งหน้าไปทางนั้นเป็นอันขาด
- โยฮันเนส สตรัดด์ (ผู้นำทาง)
หมอกเป็นศัตรูตัวฉกาจของนักเดินทาง เมื่ออยู่ในป่ามันอาจทำให้คนหลงออกจากกลุ่ม หากเป็นในทะเลก็อาจทำให้เรือพุ่งชนโขดหิน แต่อันตรายเหล่านี้เทียบไม่ได้เลยกับฟ็อกเล็ทที่ซ่อนตัวอยู่ในหมอก สัตว์ประหลาดชนิดนี้มีช่วงแขนที่ทรงพลังและกรงเล็บที่โค้งเหมือนมีดสั้นของชาวเซอร์ริเคเนีย (Zerrikanian kinjal) แต่ทว่าสิ่งที่ทำให้พวกมันเป็นอันตรายอย่างแท้จริงก็คือ ภาพมายา การล่อลวง และการสร้างความสับสน หลายครั้งที่พวกมันจัดการเหยื่อโดยไม่จำเป็นต้องจู่โจมเลย แค่ทำให้พวกเขาสับสนจนประสาทกินหรือเตลิดลงไปในหนองน้ำ หลังจากนั้นก็แค่รอให้อาหารของพวกมันจมน้ำตายไปเอง
จุดอ่อน: Moondust Bombs / Necrophage Oil / Quen
⤝⭑⭑⭑⭑⭑⭑✡✪✡⭑⭑⭑⭑⭑⭑⤞
ฟ็อกเลทโบราณ (Ancient Foglet)
"ฟ็อกเล็ทโบราณ" ศิลปิน Bartłomiej Gaweł (ภาพจาก gwent.one) |
Bestiary (The Witcher 3: Wild Hunt)
ระวังตัวด้วย… นายท่าน มันมีสัตว์ประหลาดหากินอยู่ในบึง หากเข้าไปในหมอกแล้ว
ท่านจะไม่ได้กลับออกมาอีกเลย!
- เลสลาฟ (นักขุดลอกบึง)
ปรากฏว่ามอนสเตอร์ที่คอยหลอกหลอนอยู่ในบึงแห่งเวเลนคือฟ็อกเล็ทโบราณ มันเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดพิเศษที่มีอายุยืนยาวมาก บางตัวอาจจะอยู่บนโลกนี้มานานกว่าสองร้อยปีแล้ว และยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไรก็มีแต่จะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น การโจมตีของฟ็อกเล็ทโบราณนั้นยากที่ปัดป้องได้ ฟ็อกเล็ทชนิดนี้สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วอย่างเหลือเชื่อ แม้แต่
คาถาเยอร์เด็นก็ไม่สามารถทำให้มันช้าลงได้ นอกจากนี้มันยังหายตัวเข้าไปในหมอกและโผล่มาโจมตีจากทางด้านหลังได้ในชั่วพริบตา แนะนำให้สวมชุดเกราะหนักหรือใช้คาถาเคว็นป้องกันตัวอยู่เสมอ
ฟ็อกเล็ทโบราณตนนี้พิสูจน์แล้วว่ามันคือผู้เชี่ยวชาญในการใช้ศิลปะแห่งภาพมายา มีแต่ผู้ที่เป็นมืออาชีพซึ่งเพียบพร้อมด้วยทักษะการใช้คาถาและดาบเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับมันได้ โชคดีที่เกรอลท์มีคุณสมบัติตรงตามคำบรรยายทุกประการ
จุดอ่อน: Moondust Bombs / Necrophage Oil / Quen
หมายเหตุ: ในเควสสัญญาว่าจ้าง Contract: Swamp Thing ฟ็อกเล็ทโบราณตนนี้ถูกเรียกว่า “อิกนิส ฟาทูส” (Ignis Fatuus) ซึ่งเป็นชื่อภาษาละตินของ “วิล โอ เดอะ วิสป์” (will-o'-the-wisp) ภูตผีที่มีลักษณะเป็นดวงไฟกลม ๆ ลอยอยู่ในหมอกเหนือบริเวณที่เป็นหนองน้ำหรือพื้นที่ชายเลน ซึ่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้อธิบายไว้ว่า อาจเป็นแสงหิ่งห้อยซึ่งมีสารชีวภาพเรืองแสง หรือเป็นการเรืองแสงของสารเคมี และปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation)
จนเกิดการสันดาปของแก็สมีเทน (Methane), แก็สเมทิลฟอสฟีน (methylphosphine), แก็สฟอสฟีน (phosphine), หรือสารประกอบกลุ่มไดฟอสฟีน (diphosphines) ซึ่งพบได้บ่อยในบริเวณที่มีการเน่าเปื่อยของสารอินทรีย์ [1]
อ้างอิง: [1] Howell G. M. Edwards (December 13, 2014). “Will-o'-the-Wisp: an ancient mystery with extremophile origins?”. The Royal Society Publishing. doi:10.1098/rsta.2014.0206
ไม่มีความคิดเห็น