เทพเจ้าสลาฟกับรูนสโตนใน The Witcher 3
เกม The Witcher 3 มีระบบอัพเกรดดาบของเกรอลท์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการใช้รูนสโตนที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันถึง 10 ชนิด โดยชื่อของหินเหล่านี้ก็เรียกยากและฟังดูไม่คุ้นเคยเท่าไรนัก นั่นเป็นเพราะว่าชื่อของพวกมันมาจากชื่อเทพเจ้าของชนเผ่าสลาฟ ซึ่งแทบไม่เป็นที่รู้จักของชาวโลกในภูมิภาคอื่น ๆ เลย
ตำนานเหล่าทวยเทพของชาวสลาฟนั้นมีความคลุมเครือและยากต่อการศึกษา เนื่องจากถูกถ่ายทอดแบบปากต่อปากเป็นส่วนใหญ่และแทบไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ศาสนสถานและรูปเคารพต่าง ๆ ก็ถูกทำลายไปในระหว่างการแผ่อิทธิพลของศาสนคริสต์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-12 นอกจากนี้ชาวสลาฟเผ่าต่าง ๆ ยังมีตำนานความเชื่อที่แตกต่างกัน จึงไม่แปลกที่จะสร้างความสับสนให้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาตำนานเหล่านี้อยู่เสมอ
ตำนานเทพเจ้าในบทความนี้จะอ้างอิงตามความเชื่อของชาวสลาฟตะวันตก (โปแลนด์, เช็ก และสโลวาเกีย) เป็นหลัก ซึ่งรายละเอียดและการตีความแตกต่างไปจากตำนานของชาวสลาฟตะวันออกและชาวสลาฟใต้
Svarog ศิลปิน Andrey Shishkin ภาพจาก wikimedia.org |
1. Svarog Runstone
รูนสโตนสวาร็อกที่ช่วยทำให้อาวุธของเราโจมตีทะลุเกราะได้แรงยิ่งขึ้น (increase armor piercing) นั้นอ้างอิงมาจากพลังของ “สวาร็อก” ที่ได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งการตีเหล็ก (god of blacksmithing)
สวาร็อก (Swaróg; สวารูก) คือ เทพเจ้าผู้สร้างที่มักมีรูปโฉมเป็นชายชราหนวดเครายาวและมักมีสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์และค้อนหรือเครื่องมือช่างอื่น ๆ ตำนานได้เล่าไว้ว่าสวาร็อกได้สร้างดวงอาทิตย์ขึ้นมาจากค้อนอัคคี บ้างก็เล่าว่าใช้ค้อนปลดปล่อยดวงอาทิตย์จากโซ่ตรวนสวรรค์ จึงได้รับการยกย่องให้เป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ เทพแห่งไฟบนสรวงสวรรค์ (celestial fire) และเทพแห่งการตีเหล็ก เทียบได้กับเทพเฮเฟสตุส (Hephaestus) ในเทพปกรณัมกรีก
ความสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์และไฟทำให้สวาร็อกได้ชื่อว่าเป็นบิดาของ “สวาโรชิส” (Swarożyc) เทพแห่งไฟบนพิภพ (earthly fire) ซึ่งบางครั้งก็ถูกตีความว่าเป็นเทพองค์เดียวกับ “ดาซบ็อก” และเนื่องจากภาพจารึกของสวาร็อกที่มักปรากฏคู่กับนกเหยี่ยว จึงมีการตีความว่าเหยี่ยวเพลิงรารู้ก (Raróg) คือร่างอวตารของเทพสวาร็อกด้วย ส่วนชาวโปแลนด์นั้นเชื่อว่ารารู้กเป็นนกไฟตัวเล็ก ๆ ที่จะนำความสุขและโชคดีมาให้ผู้คน และสัญลักษณ์นกคาร์ดินัลสีแดงของ CD Projekt Red ก็ยังมีความเชื่อมโยงกับตำนานนกรารู้กอีกด้วย
Dazhbog ศิลปิน Andrey Shishkin ภาพจาก wikimedia.org |
2. Dazhbog Runestone
รูนสโตนดาซบ็อกคือหินที่ทำให้การโจมตีด้วยดาบของเรามีโอกาสทำให้ร่างกายของศัตรูเกิดไฟลุกท่วมได้ (increase chance to cause burning) ดุจพลานุภาพของ “ดาซบ็อก” ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งเปลวเพลิง
ดาซบ็อก (Dażbóg; ดาซบูก) คือ เทพแห่งอัคคีผู้เป็นบุตรของเทพสวาร็อก นักประวัติศาสตร์บางคนก็เชื่อว่าเป็นเทพองค์เดียวกับสวาโรชิส บางตำนานก็ยกย่องดาซบ็อกให้เป็นสุริยเทพเช่นเดียวกับสวาร็อก เนื่องจากสวาร็อกผู้เป็นบิดาได้มอบหมายให้ดาซบ็อกทำหน้าที่แทน ในทุก ๆ วันดาซบ็อกจะต้องแล่นรถศึกเทียมม้าที่ลมหายใจเป็นเปลวเพลิงข้ามท้องฟ้าเพื่อทำให้โลกมีเวลากลางวัน ซึ่งพ้องกับตำนานของเทพเฮลิฮอส (Helios) ในอารยธรรมกรีกโบราณ
ชื่อของเทพดาซบ็อกยังมีความหมายว่า “เทพผู้ประทาน” (giving god) ชาวสลาฟบางเผ่าจึงเชื่อว่าเทพดาซบ็อกคือผู้ที่ประทานแสงสว่างและความอุดมสมบูรณ์มาสู่ผืนแผ่นดิน ตำนานพื้นบ้านของชาวเซอร์เบียยังเชื่อว่าดาซบ็อกได้นำโลหะมีค่าต่าง ๆ ลงมาสู่ใต้พื้นดินในยามที่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าลงไป ดาซบ็อกจึงถูกยกให้เป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง (god of wealth) ในหมู่ชาวสลาฟใต้
Perun ศิลปิน Andrey Shishkin ภาพจาก wikimedia.org |
3. Perun Runestone
รูนสโตนเปรุนที่ช่วยเร่งอะดรีนาลีน (increase adrenaline point gain) ซึ่งทำให้เราโจมตีได้รุนแรงหนักหน่วงยิ่งขึ้นนั้นมีที่มาจาก “เทพผู้ใช้สายฟ้าฟาด” (he who strike) หรือ “เทพเปรุน” นั่นเอง
เปรุน (Perun) คือ เทพเจ้าแห่งสายฟ้าอันเป็นที่เคารพบูชาในหมู่ชาวสลาฟแทบทุกเผ่า เทียบได้กับเทพซุส (Zeus) ของชาวกรีก และเทพธอร์ (Thor) ผสมกับเทพโอดิน (Odin) ในเทพปกรณัมนอร์ส เมื่อเทพเปรุนขี่ม้าหรือแล่นรถศึกผ่านท้องฟ้าก็จะมีแสงสว่างวาบและเสียงสะเทือนเลื่อนลั่น บ้างก็เชื่อว่าการเกิดฟ้าร้องฟ้าฝ่านั้นมาจากการที่เทพเปรุนใช้สายฟ้าต่อสู้กับคู่ปรับตลอดกาลอย่างเทพเวเลส ตำนานเหล่านี้ทำให้เทพเปรุนได้รับการเคารพบูชาในฐานะเทพสงครามอีกด้วย
ชาวสลาฟตะวันตกจะแกะสลักเสาไม้เป็นรูปเทพเปรุนถือขวานหรือถือค้อนตั้งไว้ใต้ต้นโอ๊คที่ขึ้นอยู่บนเนินหรือยอดเขา เชื่อกันว่าอาวุธของเปรุนสามารถดลบันดาลฝนเพื่อช่วยให้การเพาะปลูกได้ผลดี และยังสร้างพายุฝนฟ้าคะนองใส่พวกศัตรูเผ่าอื่น ๆ ที่คิดจะเข้ามารุกรานอีกด้วย เทพเปรุนได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าสูงสุดในลักษณะเดียวกับพระเจ้าในศาสนาคริสต์ ดังนั้นเมื่อศาสนาคริสต์แผ่อิทธิพลเข้ามาในพื้นที่ของชาวสลาฟ เสาไม้และรูปเคารพของเทพเปรุนจึงถูกรื้อทำลายทิ้งจนเกือบหมด แต่มรดกความนิยมของเทพเจ้าองค์นี้ก็ยังเหลือรอดและปรากฏอยู่ในภาษาโปแลนด์ โดยชื่อของเทพเปรุนนั้นเป็นรากศัพท์ของคำว่า “piorun” ที่แปลว่า “สายฟ้า”
Veles ศิลปิน Andrey Shishkin ภาพจาก wikimedia.org |
4. Veles Runestone
รูนสโตนเวเลสมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มพลังเวทให้กับวิทเชอร์ ซึ่งทำให้คาถาต่าง ๆ ทรงอานุภาพยิ่งขึ้น (increase sign intensity) ดุจพลังของ “เวเลส” เทพแห่งเวทมนตร์ผู้ครองพิภพใต้ติน
เวเลส (Weles) คือขั้วตรงข้ามของเทพเปรุน มีพลังคล้ายกับโลกิ (Loki) และลูก ๆ ทั้งสามในเทพปกรณัมนอร์ส เวเลสสามารถแปลงกายได้ทุกรูปแบบและใช้เวทมนตร์ได้ ตำนานการต่อสู้ระหว่างเวเลสกับเปรุนก็มีลักษณะคล้ายกับตำนานเทพเจ้าในภูมิภาคอินโด-ยูโรเปียน ที่เป็นการปะทะกันของพลังขั้วตรงข้าม ในขณะที่เปรุณคือเทพแห่งท้องนภาผู้อยู่เหนือเรือนยอด (Wyraj; วีรัย) ของต้นไม้แห่งโลก (axis mundi) เวเลสก็เป็นเทพผู้ครองพิภพใต้ดิน (Nawia; นาเวีย) ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้รากของต้นไม้
บางตำนานก็เล่าว่าเวเลสจะแปลงกายเป็นอสรพิษหรือมังกรปีนป่ายต้นไม้แห่งโลกขึ้นไปสู้รบกับเทพเปรุน ชาวสลาฟตะวันออกเชื่อว่าเวเลสได้ลักพาตัวเทพีโมคอช (Mokosh) ซึ่งเป็นชายาของเทพเปรุน ทำให้เกิดการต่อสู้กลางท้องฟ้า เวเลสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และร่างกายของเทพเจ้าก็ตกลงมาเป็นหยาดฝนกลับสู่ใต้พิภพ
ชื่อของเวเลสยังมีความหมายที่สื่อถึง “เส้นขน” หรือ “ขนแกะ” ชาวสลาฟบางเผ่ายกย่องให้เวเลสเป็นเทพเจ้าผู้พิทักษ์สรรพสัตว์ และรูปเคารพของเขามักเป็นชายที่มีเขาเหมือนเขากระทิง ห้อมล้อมไปด้วยฝูงสัตว์นานาชนิด บางครั้งส่วนศีรษะของเวเลสก็เป็นสุนัขป่าหรือหมี
Triglav / Trojan ศิลปิน Dragutin Vukelic ภาพจาก ArtStation |
5. Triglav Runestone
เมื่อใส่รูนสโตนทรีกลาฟลงไปในดาบ การโจมตีของเราจะทำให้ศัตรูมีโอกาสติดสถานะมึนงงได้ง่ายขึ้น (increase chance to stun) ราวกับถูกปิดหูปิดตาเอาไว้ เช่นเดียวกับรูปสลักของมหาเทพทรีกลาฟ
ทรีกลาฟ (Trygław; ทรีกวาฟ) เป็นเทพเจ้าสูงสุด (summus deus) ของชาวสลาฟในแถบบอลติก (เอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย) รูปเคารพของทรีกลาฟมีลักษณะเป็นเทพสามเศียรที่ดวงตาและริมฝีปากถูกปิดไว้ด้วยทองคำ ซึ่งถูกตีความว่าตรีกลาฟปฏิเสธที่จะเป็นประจักษ์พยานแก่บาปทั้งปวงของเหล่ามนุษย์ เศียรทั้งสามหมายความว่าทรีกลาฟเป็นผู้ปกครองทั้งดินแดนสวรรค์ โลกมนุษย์ และโลกใต้พิภพ ชาวสลาฟตะวันออกแถบนอฟโกรอด (Novgorod) ในรัสเซียเชื่อว่าเทพเปรุน เทพสวาร็อก และเทพเวเลส ล้วนเป็นตัวแทนเศียรทั้งสามของมหาเทพทรีกลาฟ
มีตำนานเก่าแก่ที่เชื่อกันว่าทรีกลาฟคือมหาเทพแห่งการศึก ตรีกลาฟมีอาชาสีดำเป็นพาหนะ ซึ่งความเชื่อนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการพยากรณ์ว่าการศึกจะได้รับชัยชนะหรือไม่ โดยจะมีการปักหอกไว้ที่พื้นดินในเขาวงกต และปล่อยให้ม้าสีดำเดินผ่านเขาวงกตนั้น 3 รอบ หากม้าสามารถเดินออกมาได้โดยไม่สัมผัสเข้ากับหอก ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับศึกสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้น
Stribog ศิลปิน Andrey Shishkin ภาพจาก wikimedia.org |
6. Stribog Runestone
รูนสโตนสตริบ็อกจะช่วยทำให้ศัตรูของเรามีโอกาสติดสถานะซวนเซมากขึ้น (increase chance to stagger) ประหนึ่งโดนลมพายุของเทพสตริบ็อกพัดกระหน่ำเข้าใส่
สตริบ็อก (Strzybóg; สึชีบูก) เป็นเทพแห่งวายุที่มีต้นกำเนิดมาจากความเชื่อของชาวสลาฟตะวันออก ชื่อของเทพเจ้าองค์นี้หมายถึง “การเคลื่อนที่” และ “การแผ่ขยาย” สตริบ็อกมักอยู่ในรูปลักษณ์ของชายชราที่มีเส้นผมและหนวดเคราสีขาว มีแตรเขาสัตว์ที่ใช้เป่าเพื่อสร้างลมพายุและมีนกอินทรีเป็นผู้นำสาร และเทพเจ้าองค์นี้ยังได้ชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของลมทั้ง 8 ทิศ (grandfather of the eight winds) สตริบ็อกจึงเป็นที่เคารพบูชาในหมู่นักเดินเรือและผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบชายฝั่ง
ชาวสลาฟตะวันออกเชื่อว่าสตริบ็อกกำเนิดมาจากเทพสวาร็อก เมื่อสวาร็อกเหวี่ยงค้อนตีเหล็กก็ทำให้เกิดลมจากการเคลื่อนไหว และลมนั้นก็กลายเป็นเทพสตริบ็อก และยังเชื่อว่าเทพองค์นี้เป็นผู้พัดพาเหล่าเทพีประจำฤดูกาลต่าง ๆ มายังผืนแผ่นดินอีกด้วย
Chernobog ศิลปิน IrenHorrors ภาพจาก DeviantArt |
7. Chernobog Runestone
รูนสโตนเชอร์โนบ็อกจะช่วยให้ดาบของเรามีพลังโจมตีทางกายภาพมากยิ่งขึ้น (increase attack power) ดุจพลังทำลายล้างของเชอร์โนบ็อก (Czarnobóg; ชาร์โนบูก)
วัฒนธรรมป๊อบคัลเจอร์ได้ทำให้เชอร์โนบ็อกมีภาพลักษณ์กลายเป็นปีศาจร้าย แต่อันที่จริงแล้วเชอร์โนบ็อกนั้นมีสถานะเป็นเทพแห่งความมืด จุดเปลี่ยนนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคเฟื่องฟูของศาสนคริสต์ ซึ่งในมุมมองของบาทหลวงที่เป็นผู้จดบันทึกประวัติศาสตร์นั้นมองว่าเชอร์โนบ็อกเป็นปีศาจทำนองเดียวกับซาตานตามความเชื่อของตน
ตำนานของเชอร์โนบ็อกในหมู่ชาวสลาฟตะวันตกค่อนข้างเป็นเอกเทศและไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับเทพเจ้าอื่น ๆ เว้นแต่เทพเบโลบ็อก (Białobóg; เบียลโวบูก) เท่านั้น ตำนานของเทพทั้งสององค์นี้เกี่ยวข้องกับการสร้างโลกในยุคปฐมกาลซึ่งเล่าไว้ว่า เมื่อแรกเริ่มนั้นมีเพียงสรวงสวรรค์กับมหาสมุทร เทพแห่งแสง "เบโลบ็อก" ที่กำลังแล่นเรือได้พบกับ "เชอร์โนบ็อก" เทพแห่งความมืดที่ผุดขึ้นมาจากฟองคลื่น เชอร์โนบ็อกได้เสนอให้เบโลบ็อกสร้างแผ่นดินขึ้นมาโดยการดำลงไปหยิบทรายขึ้นมาจากก้นทะเลลึก แต่เบโลบ็อกทำไม่สำเร็จ เชอร์โนบ็อกจึงเป็นฝ่ายดำน้ำลงไปหยิบทรายขึ้นมา เทพแห่งความมืดมอบทรายให้เทพแห่งแสงสว่างนำไปโปรยเพื่อสร้างเป็นผืนแผ่นดิน แต่เมื่อเทพทั้งสองไม่อาจตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นผู้ครอบครองผืนแผ่นดิน เบโลบ็อกจึงขึ้นไปอยู่บนสรวงสวรรค์ ส่วนเชอร์โนบ็อกก็ลงไปสถิตย์ที่ดินแดนใต้พิภพ
มีข้อสันนิษฐานว่าตำนานของเบโลบ็อกและเชอร์โนบ็อกอาจได้รับอิทธิพลมาจากตำนานของเทพออร์มุซด์และเทพอาห์ริมาน (Ormuzd and Ahriman) ของศาสนาโซโรแอสเตอร์ที่มาพร้อมกับชาวไซเธีย (Scythian) จากอิหร่านที่ขึ้นไปตั้งรกรากในภูมิภาคไครเมีย (Crimea) เทพฝาแฝดทั้งสองนี้ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน โดยออร์มุซด์มีหน้าที่ปกป้องโลกและสิ่งมีชีวิต ส่วนอาห์ริมานมีหน้าที่ทำลายเพื่อให้เกิดวัฏจักรต่าง ๆ ในจักรวาล
Zoria (Zarya Zarenicza) ศิลปิน Andrey Shishkin ภาพจาก wikimedia.org |
8. Zoria Runestone
ซอเรีย คือ เทพีแห่งแสงผู้ทำให้เกิดเวลากลางวัน ตามความเชื่อของชาวสลาฟตะวันตก เทพีซอเรียคือผู้ถือกุญแจแห่งท้องนภาและเป็นพี่น้องกับสุริยเทพดาซบ็อก (บ้างก็บอกว่าเป็นลูกสาว) ในตอนเช้าซอเรียจะออกมาเปิดประตูให้ดาซบ็อกแล่นรถม้าออกไปจากพระราชวังทองคำ และเมื่อดาซบ็อกกลับมาในตอนค่ำ เธอก็จะปิดประตูเพื่อให้เกิดเวลากลางคืน
ส่วนความเชื่อของชาวโปแลนด์ ซอเรีย หรือ ซอร์ซา (Zorza) จะเป็นเทพีสามพี่น้องที่เป็นตัวแทนของแสงสว่างในแต่ละช่วงเวลาของวัน ได้แก่ แสงยามเช้า (Zorza porankowa; ซอร์ซา ปอรันคอวา), แสงยามเที่ยง (Zorza południowa; ซอร์ซา โพลวุดเนียววา) และแสงยามเย็น (Zorza wieczorowa; ซอร์ซา เวียชชอรอวา) เทพีทั้งสามยังปรากฏในเพลงกล่อมเด็กที่ขอให้พวกเธอช่วยทำให้เด็กทารกหยุดร้องไห้ และยังมีการทำเครื่องรางของเทพีซอร์ซาที่ขอพรให้ความรักสมหวังอีกด้วย
พลังของเทพีซอเรียอาจไม่เกี่ยวข้องกับความหนาวเย็นโดยตรงเหมือนกับพลังของรูนสโตนซอเรียที่ทำให้ศัตรูถูกแช่แข็ง (increase chance to freeze) แต่เธอคือผู้ควบคุมแสงที่มอบความอบอุ่นให้ หากซอเรียไม่เปิดประตูให้พระอาทิตย์ขึ้น โลกก็คงมีแต่เวลากลางคืนที่หนาวเหน็บและมืดมิดไปตลอดกาล
Morana ศิลปิน Vasylina ภาพจาก DeviantArt |
9. Morana Runestone
พลังของรูนสโตนโมรานานั้นเหมือนกับการเติมยาพิษลงไปในดาบ (increase chance to poison) พิษนั้นเป็นพลังทำลายล้างรูปแบบหนึ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และสามารถส่งคนเป็นเข้าไปสู่อ้อมกอดของเทพีแห่งความตายได้
โมรานา หรือ มาร์ซานนา (Marzanna) คือเทพีแห่งความตายที่มาพร้อมกับฤดูหนาว มีรูปลักษณ์เป็นสตรีผมดำที่ถือเคียวอยู่ในมือ ชาวสลาฟตะวันตกยังเชื่อว่าโมรานาคือผู้ที่กุมชะตาของพืชผลที่พวกเขาเพาะปลูก เนื่องจากเทพีองค์นี้สามารถบัญชาน้ำที่อยู่ใต้ดินได้ เทพีองค์นี้จึงมีสถานะเป็นทั้งผู้มอบชีวิตและเป็นผู้พรากชีวิตไปด้วย
เทพีโมรานาได้รับการบูชาจากชาวสลาฟเพราะเชื่อว่าจะทำให้พวกเขามีชีวิตผ่านฤดูหนาวที่โหดร้ายไปได้ แต่หลังจากยุคกลางเป็นต้นมา พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทพีโมรานาก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการเผาหุ่นฟางหรือเอาหุ่นที่ทำจากกิ่งไม้ไปลอยน้ำ เนื่องจากผู้คนในสมัยนั้นเชื่อว่าจะเป็นการยุติพลังของโมรานา เพื่อทำให้ฤดูหนาวของปีนั้นจบลงและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
ส่วนชาวสลาฟตะวันออกเรียกขานเทพีองค์นี้ว่า โมเรนา (Morena) เทพีโมเรนาเกิดความรักกับยาริโล (Yarilo) เทพแห่งฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นพี่น้องของตัวเอง แต่เมื่อยาริโลหมดรัก โมเรนาก็สังหารยาริโลและเกิดเป็นฤดูหนาวขึ้นมา หลังจากนั้นโมเรนาก็ไปคบหากับเชอร์โนบ็อก และให้กำเนิดเทพทรีกลาฟซึ่งเป็นเทพแห่งสงครามในเวลาต่อมา
Devana ศิลปิน Andrey Shishkin ภาพจาก wikimedia.org |
10. Devana Runestone
พลังของรูนสโตนดีวานาจะทำให้ศัตรูของเราติดสถานะเลือดออกหลังจากถูกโจมตีได้ง่ายขึ้น (increase chance to cause bleeding) ดุจได้รับพรจากเทพีแห่งการล่าของชาวสลาฟ
ดีวานา หรือที่เรียกในภาษาโปแลนด์ว่า ซีวานนา (Dziewanna / Ziewanna) เป็นเทพีแห่งธรรมชาติ ผืนป่า ดวงจันทร์ และการล่าสัตว์ เทียบได้กับเทพีไดอานาของโรมัน ดีวานาเป็นที่เคารพบูชาในหมู่ชาวสลาฟฝั่งตะวันตกและเป็นเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิตามตำนานพื้นบ้านของโปแลนด์ บางตำนานก็บอกว่าเธอคือ วีรสตรีผู้ทะนง (Proud Lady: Dumną Panią) ผู้ครอบครองปราสาทแห่งหนึ่งที่ถูกสร้างโดยพวกยักษ์ เมื่อนางสามารถเอาชนะอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ นางจึงสถาปนาตัวเองเป็นเทพีไดอานา แต่เหล่าทวยเทพไม่อาจยอมรับได้ จึงตอบโต้โดยการสร้างสายฟ้าฟาดปราสาทของนางจนพังพินาศ
ในเทศการเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิมักมีพิธีกรรมบูชาเทพีดีวานาควบคู่ไปกับเทพีโมรานาอยู่เสมอ บางคนจึงสันนิษฐานว่าเทพีดีวานาเป็นปางหนึ่งของเทพีโมรานาซึ่งเป็นเทพีแห่งความตาย แต่ก็สามารถตีความได้ว่าเทพีทั้งสององค์นี้คือตัวแทนของวัฏจักรแห่งปีและวัฏจักรชีวิต เมื่อฤดูหนาวที่เปรียบเสมือนความตายได้ผ่านพ้นไป ก็จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มาพร้อมกับการกำเนิดและการเริ่มต้นใหม่ ซึ่งชีวิตและความตายเป็นสิ่งที่ดำเนินควบคู่กันไปเสมอ แนวคิดนี้จึงอาจเป็นที่มาของการบูชาเทพีทั้งสองควบคู่กันของชาวสลาฟตะวันตก
เพียโรกิสอดไส้ชีสควาร์ก ภาพจาก polishdumplings.pierogigorzow.pl |
ส่วนรูนสโตนอีกสองชนิดที่เพิ่มเข้ามาใน DLC Hearts of Stone คือ Pyerog และ Tvarog นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทวยเทพของชาวสลาฟ แต่มีที่มาจากชื่ออาหารขึ้นชื่อของโปแลนด์และภูมิภาคยุโรปตะวันออก
รูนสโตนไพร็อกมาจากเมนู “เพียโรกิ” (Pierogi) ซึ่งเป็นเกี๊ยวที่มีไส้เป็นมันฝรั่งบดและชีสเสิร์ฟคู่กับซาวครีม การคราฟรูนสโตนชนิดนี้จะต้องใช้ lesser runestone 1 ก้อน และเกี๊ยว (dumpling) 1 ชิ้น ผลของรูนสโตนชนิดนี้จะทำให้การกินอาหารแต่ละครั้งสามารถฟื้นฟู HP ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากค่าปกติ
และสุดท้ายกับรูนสโตนทวาร็อกที่มาจากชื่อของชีสเปรี้ยวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ควาร์ก” (quark) หรือ ทฟารูก (twaróg) ในภาษาโปแลนด์ ชีสชนิดนี้ได้มาจากการอุ่นนมเปรี้ยวจนโปรตีนในนมแยกชั้นออกมาเป็นก้อน (curd) จากนั้นจะกรองเอาส่วนที่เป็นน้ำออก และใช้ผ้าบาง ๆ ห่อก้อนเคิร์ดเพื่อรีดน้ำออกอีกครั้ง การคราฟรูนสโตนชนิดนี้ต้องใช้ lesser runestone 1 ก้อน และนมวัว (cow’s milk) 1 เหยือก ส่วนสรรพคุณของมันก็เหมือนกับรูนสโตนเกี๊ยวทุกประการ
แหล่งที่มาของข้อมูล
- What Is Known About Slavic Mythology | culture.pl
- The 10 Most Important Slavic Gods | thoughtco.com
- Swaróg – niebiański kowal | slawoslaw.pl
- Historia Syna Swarożego – Swarożyca, Dażboga, Radogosta | slawoslaw.pl
- Dazhbog | wikipedia.org
- Perun / Piorun — pan słowiańskiego panteonu | slawoslaw.pl
- Perun | wikipedia.org
- Perun, Slavic God of the Sky and Universe | thoughtco.com
- Weles / Wołos – pan podziemnego świata | slawoslaw.pl
- Veles | wikipedia.org
- Veles (Volos), Slavic God of Cattle and the Underworld | thoughtco.com
- SOME CONSIDERATIONS REGARDING THE SLAVIC GOD TRIGLAV by Mihai Dragnea, University of South-Eastern Norway
- Strzybóg – słowiański pan wiatrów | slawoslaw.pl
- Stribog | wikipedia.org
- Białobóg i Czarnobóg – rzekomi stworzyciele świata | slawoslaw.pl
- Zorya | wikipedia.org
- Zorya, Slavic Goddess of Light | thoughtco.com
- Marzanna – Pani Śmierci i Ponurego Oblicza Natury | slawoslaw.pl
- Marzanna, Slavic Goddess of Death and Winter | thoughtco.com
- Yarilo | wikipedia.org
- Dziewanna – bogini w ziele zaklęta | slawoslaw.pl
- Devana | wikipedia.org
ไม่มีความคิดเห็น